หมวดหมู่: มติ ครม.

Gov 18


รายงานผลการปฏิบัติงานตามพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 ประจำปี 2565

          คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานผลการปฏิบัติงานตามพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 ประจำปี 2565 (รายงานผลการปฏิบัติงานฯ) ตามที่คณะกรรมการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ (คณะกรรมการ สทพ.) เสนอ

          สาระสำคัญ

          1. คณะกรรมการ สทพ. รายงานว่า คณะกรรมการ สทพ. ในการประชุมครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2566 [โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (นายจุติ ไกรฤกษ์ ในขณะนั้น) ปฏิบัติหน้าที่ประธานในการประชุม] ได้มีมติเห็นชอบรายงานผลการปฏิบัติงานฯ และนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานกรรมการ สทพ. ได้เห็นชอบรายงานดังกล่าวและให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบต่อไป

          2. รายงานผลการปฏิบัติงานฯ มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

              2.1 ผลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการตามพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 ประจำปี 2565 พระราชบัญญัติฯ ได้กำหนดให้มีกลไกคุณะกรรมการ 3 คณะ ได้แก่ คณะกรรมการ สทพ.1 คณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ (คณะกรรมการ วลพ.2) และคณะกรรมการบริหารกองทุนส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ3 มีผลการปฏิบัติงาน ดังนี้

 

คณะกรรมการ

 

ผลการปฏิบัติงานประจำปี 2565

1. คณะกรรมการ สทพ.

 

- กำหนดมาตรการและแผนงานที่สำคัญ เช่น จัดทำข้อเสนอแนะและคู่มือตัวอย่างที่ดีในการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ เช่น การจัดให้มีห้องสุขาสำหรับกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ เพื่อให้หน่วยงานราชการและสถานประกอบการใช้เป็นแนวทางปฏิบัติ พิจารณาแนวทางการปรับปรุงแก้ไขกฎ ระเบียบหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ วลพ. จำนวน 4 ประเด็น ประกอบด้วย (1) การจำกัดสิทธิการแต่งกายและไว้ทรงผมตามเพศสภาพในการเข้าเรียน สอบวัดผลการฝึกปฏิบัติงาน และการรับพระราชทานปริญญาบัตร รวมถึงการใช้รูปถ่ายตามเพศสภาพในการขอเอกสารทางการศึกษา (2) การจัดห้องพักในการอบรม การประชุม สัมมนา สำหรับผู้ที่แสดงออกแตกต่างจากเพศกำเนิด (3) การไม่สามารถใช้คำนำหน้านามตามเพศสภาพในบัตรประจำตัวประชาชน และ (4) การจำกัดสิทธิการใช้รูปถ่ายเครื่อง แบบข้าราชการพลเรือนตามเพศสภาพในการทำบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่รัฐ

- พัฒนากลไกและกระบวนการในการขับเคลื่อนการดำเนินงาน โดยเห็นชอบแผนปฏิบัติการและการใช้จ่ายงบประมาณกองทุนส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศประจำปีงบประมาณ .. 2566 ในวงเงิน 6.8 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือ คุ้มครอง และป้องกันมิให้มีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ รวมทั้งส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ

2. คณะกรรมการ วลพ.

 

รับพิจารณาคำร้องที่เกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ จำนวน 3 เรื่อง โดยผู้ร้องเป็นเพศหญิง 1 ราย และผู้ที่แสดงออกแตกต่างจากเพศกำเนิด 2 ราย โดยมีประเด็นคำร้อง ดังนี้ (1) ข้อบังคับของหน่วยงานด้านกฎหมายจำกัดสิทธิการสวมกางเกงในการปฏิบัติหน้าที่ (มีคำวินิจฉัยแล้ว)4 (2) หน่วยงานภาครัฐไม่อนุญาตให้เปลี่ยนการปฏิบัติหน้าที่เวรกลางคืนเป็นกลางวันและไม่ให้ใช้ รูปถ่ายตามเพศสภาพในบัตรประจำตัวข้าราชการ (มีคำวินิจฉัยแล้ว)5/ และ (3) เจ้าหน้าที่สถาบันฝึกอบรมเรียกชื่อผู้แสดงออกแตกต่างจากเพศกำเนิดโดย ใช้คำนำหน้านามและสรรพนามแทนตัวตามเพศกำเนิด (อยู่ระหว่างการพิจารณา)

3. คณะกรรมการบริหารกองทุนส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ

 

กองทุนส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศได้รับงบประมาณประจำปี 2565 จำนวน 7.3 ล้านบาท มีผลการเบิกจ่ายและก่อหนี้ผูกพัน จำนวน 5.7 ล้านบาท และคงเหลือ จำนวน 1.6 ล้านบาท โดยเป็นการดำเนินงานใน 4 กิจกรรมหลัก ได้แก่ (1) การขจัดการเลือกปฏิบัติและความไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ (เช่น การจัดกิจกรรมสานพลังเครือข่ายร่วมขจัดการเลือกปฏิบัติไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ : Gender Fair เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติหน่วยงานตัวอย่างด้านการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ) (2) กรสร้างความตระหนักเรื่องความเท่าเทียมระหว่างเพศในสังคม (3) การสนับสนุนโครงการเพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ และ (4) การบริหารกองทุนฯ

 

              2.2 ผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติฯ

                   2.2.1 การดำเนินงานตามมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการทำงาน6 มีหน่วยงานที่ถูกร้องว่ามีการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการทำงาน จำนวน 11 หน่วยงาน โดยหน่วยงานดังกล่าวได้มีการดำเนินการตามแนวทางของมาตรการฯ แล้ว แบ่งเป็น (1) หน่วยงานที่มีการจัดตั้งกลไกร้องทุกข์ในหน่วยงานและแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงและคณะกรรมการสอบวินัยเพื่อสอบสวนวินัยและพิจารณาลงโทษผู้กระทำความผิด จำนวน 2 หน่วยงาน (2) หน่วยงานที่มีการพูดคุยปรับความเข้าใจและเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีกับผู้ร้อง จำนวน 1 หน่วยงาน (3) หน่วยงานที่อยู่ระหว่างการสอบสวนข้อเท็จจริง/สอบสวนทางวินัย จำนวน 5 หน่วยงาน และ (4) หน่วยงานที่มีการกำหนดแนวทางการดำเนินการจัดการการร้องเรียนประเด็นการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศของหน่วยงานในสังกัด จำนวน 1 หน่วยงาน

                   2.2.2 การประเมินผลสัมฤทธิ์ของแผนปฏิบัติการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ ระยะ 3 ปี (พ.ศ. 2563-2565) พบว่า หน่วยงานภาครัฐหลายหน่วยงานมีการดำเนินงานสอดคล้องกับแผนงานหลักทั้ง 4 แผน ประกอบด้วย (1) ส่งเสริมให้สังคมปรับหลักคิดความรู้ความเข้าใจ และตระหนักในความเท่าเทียมระหว่างเพศ (2) ส่งเสริมให้มีการสร้างพลังเกิดขึ้นแก่เพศสภาพ (3) ส่งเสริมให้ทุกองค์กรมีนโยบาย กฎ ระเบียบ และกลไกต่างๆ ที่เอื้อต่อการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ และ (4) ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเพื่อก่อให้เกิดนวัตกรรมในการสร้างความเท่าเทียมระหว่างเพศ รวมทั้งสิ้น 154 โครงการ แต่ยังไม่ครอบคลุมทุกกลยุทธ์และ เมื่อพิจารณาผลการดำเนินงานในภาพรวมพบว่า แผนปฏิบัติการดังกล่าวยังไม่มีการจัดทำโครงการที่บูรณาการระหว่างหน่วยงานและภาคส่วนต่างๆ ตลอดจนโครงการส่วนใหญ่ที่ดำเนินการเป็นภารกิจหลักของ พม. ทำให้การขับเคลื่อนการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศยังไม่ครอบคลุมทุกภาคส่วนและยังมีประเด็นที่ต้องขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องอีก เช่น การพัฒนาองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ การปรับเปลี่ยนทัศนคติและส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเรื่องความเท่าเทียมระหว่างเพศ การพัฒนากลไกความร่วมมือและเครือข่าย ในการคุ้มครองป้องกันการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศที่ครอบคลุมทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และสื่อมวลชน

          3. ข้อท้าทายและการดำเนินงานในระยะต่อไป เพื่อให้การปฏิบัติงานตามพระราชบัญญัติฯ มีประสิทธิภาพและสามารถตอบสนองต่อเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติฯ ได้อย่างมีประสิทธิผล ควรมี การดำเนินการ ดังนี้ (1) บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ เพื่อร่วมกันจัดทำนโยบาย มาตรการ และแผนปฏิบัติการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ (2) ทบทวนกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือข้อบังคับที่ทำให้เกิดการจำกัดสิทธิและเป็นการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ (3) สร้างเครือข่ายความร่วมมือในภาคส่วนต่างๆ ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม สถาบันการศึกษาทุกระดับ และสื่อมวลซนต่างๆ ในการเผยแพร่ สร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับพระราชบัญญัติฯ การเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และตระหนักในความเท่าเทียมระหว่างเพศอย่างต่อเนื่อง และ (4) ติดตามและประเมินผลการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติฯ เพื่อนำเสนอข้อเสนอแนะ ต่างๆ มาขับเคลื่อนให้เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

____________

1คณะกรรมการ สทพ. มีอำนาจหน้าที่ เช่น กำหนดนโยบาย มาตรการ และแผนปฏิบัติงานเพื่อให้มีการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศในทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน รวมทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น กำหนดแนวทางในการให้ความช่วยเหลือชดเชยและเยียวยา หรือบรรเทาทุกข์แก่บุคคลซึ่งตกเป็นผู้เสียหายจากการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ

2คณะกรรมการ วลพ. มีอำนาจหน้าที่ เช่น วินิจฉัยปัญหาที่มีการยื่นคำร้องว่ามีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็น ธรรมระหว่างเพศ กำหนดมาตรการชั่วคราวก่อนมีคำวินิจฉัยเพื่อคุ้มครองหรือบรรเทาทุกข์

3คณะกรรมการบริหารกองทุนส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศมีอำนาจหน้าที่ เช่น บริหารกองทุน การรับ การจ่ายเงินและการเก็บรักษาเงินกองทุน รวมทั้งดำเนินการเกี่ยวกับการระดมทุน การลงทุน การจัดหาผลประโยชน์ และการจัดการกองทุน

4ผลการวินิจฉัย คือ ให้ผู้ถูกร้องกำหนดมาตรการเพื่อคุ้มครองสิทธิผู้ร้อง

5ผลการวินิจฉัย คือ ไม่รับคำร้องไว้พิจารณาเนื่องจากเป็นการยื่นคำร้องซึ่งผู้ร้องยังมิได้เป็นผู้ได้รับหรือจะได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการกระทำในลักษณะที่เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ

6คณะรัฐมนตรีมีมติ (16 มิถุนายน 2558) เห็นชอบร่างมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการทำงาน และให้หน่วยงานภาครัฐถือปฏิบัติ ต่อมาคณะรัฐมนตรีมีมติ (21 เมษายน 2563) เห็นชอบร่างมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการทำงานที่ปรับใหม่ ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอ

 

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 16 กรกฎาคม 2567

 

 

7529

Click Donate Support Web 

SME720x100 2024

Banner GPF720x100 PX

CKPower 720x100

EXIM One 720x90 C JMTL 720x100

QIC 720x100

TOA 720x100

วิริยะ 720x100

AXA 720 x100

aia 720 x100

BKI 720 x 100

kbank 720x100 66

ธกส 720x100PTG 720x100

ใจฟู720x100px

AXA 720 x100 

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!