หมวดหมู่: มติ ครม.

Gov 49


รายงานความก้าวหน้าการดำเนินการตามแนวทางการประเมิน Business Ready (B-READY) ของธนาคารโลก

          คณะรัฐมนตรีรับทราบความก้าวหน้าการดำเนินการตามแนวทางการประเมิน Business Ready (B-READY) ของธนาคารโลก และการมอบหมายให้หน่วยงานที่รับผิดชอบในแต่ละด้านเร่งดำเนินการเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการประเมินBusiness Ready (B-READY) ของธนาคารโลกตามที่คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เสนอ โดยให้สำนักงาน ก.พ.ร. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รับความเห็นของกระทรวงคมนาคม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงบประมาณ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และข้อสังเกตของกระทรวงพาณิชย์ไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป 

          สาระสำคัญของเรื่อง

          ก.พ.ร. รายงานว่า

          1. ธนาคารโลกได้จัดทำรายงาน Doing Business ซึ่งเป็นรายงานประจำปีที่จัดทำขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 เพื่อเสนอผลการจัดอันดับความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจของประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยประเทศไทยได้รับการจัดอันดับจากธนาคารโลกมาอย่างต่อเนื่องและในรายงาน Doing Business 2020 ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 21 จาก 190 ประเทศทั่วโลก อย่างไรก็ตาม ธนาคารโลกได้แจ้งยกเลิกการจัดทำรายงาน Doing Business เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2564 เนื่องจากพบความผิดปกติงของข้อมูลในรายงาน Doing Business 2018 และ Doing Business 2020

          2. ธนาคารโลกได้ประกาศแนวทางประเมิน Business Ready (B-READY) เพื่อใช้ทดแทนการประเมินเพื่อจัดอันดับความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจ (Doing Business) โดยการเก็บข้อมูลการประเมิน Business Ready (B-READY) ในประเทศไทยของธนาคารโลกจะเริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม 2567 และมีกำหนดประกาศผลการประเมินในปี 2569 ดังนั้นประเทศไทยต้องเร่งดำเนินการปรับปรุงบรรยากาศในการประกอบธุรกิจและการลงทุนให้พร้อมสำหรับการประเมินภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยเกณฑ์การประเมิน Business Ready (B-READY) สรุปได้ดังนี้ 

 

ขอบเขตการประเมินแบ่งตามวงจรธุรกิจออกเป็น 10 ด้าน

(1) การเข้าสู่ธุรกิจ (Business Entry)

(3) การเชื่อมต่อสาธารณูปโภค (Utility Connections)

(5) บริการทางการเงิน (Financial Services)

(7) การจัดเก็บภาษี (Taxation)

(9) การแข่งขันทางการตลาด (Market Competition)

 

(2) ที่ตั้งธุรกิจ (Business Location)

(4) แรงงาน (Labor)

(6) การค้าระหว่างประเทศ (International Trade)

(8) การระงับข้อพิพาท (Dispute Resolution)

(10) การล้มละลายทางธุรกิจ (Business Insolvency)

ตัวชี้วัดย่อย 798 ตัวชี้วัด

(เดิมตัวชี้วัดย่อยของ Doing Business มี 202 ตัวชี้วัด)

 

ประเมินภายใต้ 3 เสาหลัก (Pillars)

(1) กรอบการกำกับดูแล

(Regulatory Framework)

(2) การบริการสาธารณะ

(Public Services)

(3) ประสิทธิภาพ

(Efficiency)

ให้ความสำคัญกับการประเมินใน 3 ประเด็นสำคัญ (Critical Themes) ที่กำลังมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจโลกยุคใหม่ ได้แก่ (1) การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ (Digital Adoption) (2) ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Sustainability) และ (3) เพศสภาพ (Gender)

 

          3. แนวทางการดำเนินการของภาครัฐเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการประเมิน Business Ready (B-READY) 

 ประเทศไทยจำเป็นต้องเร่งดำเนินการเพื่อปรับปรุงบรรยากาศในการประกอบธุรกิจและการลงทุนให้พร้อมสำหรับการประเมิน Business Ready (B-READY) ของธนาคารโลก ดังนี้ 

              3.1 เร่งดำเนินการปรับปรุงการดำเนินงานของแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปตามตัวชี้วัดของการประเมิน Business Ready (B-READY) โดยเฉพาะประเด็นเรื่องความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Sustainability) และประเด็นเพศสภาพ (Gender) ซึ่งเป็นประเด็นใหม่ที่ไม่เคยมีการประเมินในรายงาน Doing Business 

              3.2 พัฒนาระบบการให้บริการประชาชนเป็นอิเล็กทรอนิกส์เต็มรูปแบบ เชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานและพัฒนาระบบหลังบ้าน (Bank Office) ของแต่ละหน่วยงานให้เชื่อมโยงกัน เพื่อลดขั้นตอน ระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในการดำเนินการรวมทั้งอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนอย่างแท้จริง 

              3.3 ปรับปรุงและพัฒนางานบริการประชาชนโดยคำนึงถึงบริบททั้งในมิติทางเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งสอดคล้องกับทิศทางการเปลี่ยนแปลงของโลกในอนาคตด้วย

              3.4 สื่อสารการรับรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการประเมิน Business Ready (B-READY) และความก้าวหน้าในการดำเนินการของภาครัฐให้ภาคเอกชนและประชาชนทราบอย่างต่อเนื่องก่อนที่ธนาคารโลกจะเริ่มเข้ามาสัมภาษณ์ผู้ประกอบการในประเทศไทยในเดือนตุลาคม 2567 

          4. การดำเนินการที่ผ่านมาของสำนักงาน ก.พ.ร. เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการประเมิน Business Ready (B-READY) 

 ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 สำนักงาน ก.พ.ร. ได้ดำเนินการเตรียมความพร้อมสำหรับการประเมิน Business Ready (B-READY) ดังนี้

              4.1 จัดการประชุมร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อสร้างการรับรู้เกี่ยวกับการประเมิน Business Ready (B-READY) และรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการปรับปรุงบรรยากาศในการประกอบธุรกิจและการลงทุนของประเทศไทย ซึ่งรวมถึงการจัดประชุมย่อย (Focus Group) ร่วมกับภาคเอกชนใน 3 ด้าน ได้แก่ ด้านแรงงาน ด้านการแข่งขันทางการตลาด และด้านที่ตั้งธุรกิจ ในระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน 2566 

              4.2 ด้านโครงการศึกษาเพื่อขับเคลื่อนการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ ระยะที่ 3 (Doing Business Phase 3) ร่วมกับธนาคารโลก เพื่อศึกษาแนวทางและจัดทำข้อเสนอแนะในการปรับปรุงสภาพแวดล้อมการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจของประเทศไทยและเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการประเมิน Business Ready (B-READY) ใน 3 ด้าน ได้แก่ การชำระภาษี ด้านการค้าระหว่างประเทศ และด้านการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ 

              4.3 สื่อสารการรับรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการประเมิน Business Ready (B-READY) และความก้าวหน้าในการปรับปรุงสภาพแวดล้อมสำหรับการประกอบธุรกิจและการลงทุนของประเทศไทยให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทราบ โดยได้จัดทำสื่อในรูปแบบ Infographic และวารสารรายไตรมาส “Good Governance on the Move” 

          5. แนวทางการดำเนินการต่อไปของสำนักงาน ก.พ.ร. 

              5.1 ส่งเสริมการสื่อสารการรับรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการประเมิน Business Ready (B-READY) ให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทราบอย่างต่อเนื่อง 

              5.2 วิเคราะห์ตัวชี้วัดตามแนวทางการประเมิน Business Ready (B-READY) เพื่อนำไปกำหนดเป็นตัวชี้วัดในการขับเคลื่อนให้กับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง 

              5.3 เก็บข้อมูลการปฏิรูป (Reform) จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งที่ได้ดำเนินการไปแล้ว หรืออยู่ระหว่างการดำเนินการ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรายงานข้อมูลที่เกี่ยวกับการดำเนินการปฏิรูปที่สอดคล้องกับกรอบการประเมิน Business Ready (B-READY) ด้วย 

              5.4 วิเคราะห์ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากภาคเอกชนที่ได้จากประชุมกลุ่มย่อย (Focus Group) 3 ด้าน ได้แก่ ด้านแรงงาน ด้านการแข่งขันทางการตลาด และด้านที่ตั้งธุรกิจ นำไปประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาแนวทางในการปรับปรุงการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจให้สอดคล้องกับการประเมิน Business Ready (B-READY) และความต้องการของภาคเอกชน

              5.5 นำผลการศึกษาและข้อเสนอแนะที่ได้จากโครงการศึกษาเพื่อขับเคลื่อนการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ ระยะที่ 3 (Doing Business Phase 3) ไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อผลักดันการปรับปรุงสภาพแวดล้อมการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจของทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ ด้านการชำระภาษี ด้านการค้าระหว่างประเทศ และด้านการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ให้พร้อมสำหรับการประเมิน Business Ready (B-READY) 

              5.6 วิเคราะห์ข้อมูลป้อนกลับ (Feedback) เกี่ยวกับการปฏิรูปภาครัฐเพื่อการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจจากกลุ่มเป้าหมายที่คาดว่าจะอยู่ในการเก็บข้อมูลด้วยการสำรวจระดับองค์กร (Enterprise Survey) ของธนาคารโลก เพื่อเตรียมความพร้อมและสร้างความเข้าใจแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดทำรายงาน Business Ready (B-READY) 

              5.7 จัดทำวารสารรายไตรมาส “Good Governance on the Move” เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการปรับปรุงสภาพแวดล้อมสำหรับการประกอบธุรกิจและการลงทุนของประเทศไทย

              5.8 มอบหมายหน่วยงานที่รับผิดชอบเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการประเมิน Business Ready (B-READY) แต่ละด้าน มีรายละเอียดตามข้อ 6 

          6. การมอบหมายหน่วยงานที่รับผิดชอบเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการประเมิน Business Ready (B-READY) 

          เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับปรุงบรรยากาศในการประกอบธุรกิจและการลงทุนให้พร้อมสำหรับการประเมิน Business Ready (B-READY) จึงเห็นควรมอบหมายหน่วยงานที่รับผิดชอบในแต่ละด้าน ดังนี้ 

 

ด้านและประเด็นที่ต้องเร่งดำเนินการปฏิรูป

 

หน่วยงานรับผิดชอบ

1. ด้านการเข้าสู่ธุรกิจ (Business Entry) เช่น การใช้เลขทะเบียนเดียวในการเริ่มต้นธุรกิจ ปรับปรุงแบบฟอร์มให้ง่าย รวมขั้นตอนการจดทะเบียนธุรกิจ การจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและการขึ้นทะเบียนนายจ้างการแจ้งชื่อผู้ได้รับผลประโยชน์ที่แท้จริง2 ลดข้อจำกัดและปรับปรุงขั้นตอนสำหรับผู้ประกอบการชาวต่างชาติ

 

- กรมพัฒนาธุรกิจการค้า (เจ้าภาพหลัก)

- กรมสรรพากร

- สำนักงานประกันสังคม

- สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สำนักงาน ปปง.)

2. ด้านที่ตั้งธุรกิจ (Business Location) เช่น ลดระยะเวลา ขั้นตอน และค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนทรัพย์สินและการขออนุญาตก่อสร้าง เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการข้อพิพาทด้านที่ดิน ลดข้อจำกัดและปรับปรุงขั้นตอนด้านการจดทะเบียนทรัพย์สิน และการขออนุญาตก่อสร้างสำหรับผู้ประกอบการชาวต่างชาติ อำนวยความสะดวกในการเสนอรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) มีการบังคับใช้กฎหมายอาคารอนุรักษ์พลังงาน

 

- กรมที่ดิน (เจ้าภาพหลัก)

- กรมพัฒนาธุรกิจการค้า

- กรมโยธาธิการและผังเมือง

- สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

.- กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน

- กรุงเทพมหานคร

3. ด้านการเชื่อมต่อสาธารณูปโภค (Utility Services) เช่น ลดระยะเวลา ขั้นตอน และค่าใช้จ่ายในการเชื่อมต่อสาธารณูปโภค ทบทวนการกำหนดอัตราค่าบริการการใช้ไฟฟ้า ประปา และอินเทอร์เน็ต จัดทำมาตรฐานด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cybersecurity)

 

- การไฟฟ้านครหลวง (เจ้าภาพหลัก)

- สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน

- การประปานครหลวง

- บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน)

4. ด้านแรงงาน (Labor) เช่น ทบทวนกฎระเบียบด้านแรงงานให้เป็นมาตรฐานสากลและสอดคล้องกับแนวปฏิบัติที่ดี ลดขั้นตอน ระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในการจัดการด้านแรงงาน ประกันสังคมและการจัดการกรณีพิพาทด้านแรงงาน

 

- กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (เจ้าภาพหลัก)

- สำนักงานประกันสังคม

5. ด้านบริการทางการเงิน (Financial Services) เช่น พัฒนากฎระเบียบที่ระบุเรื่องการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า (Customer Due Diligence: CDD)3 เพื่อใช้ในการประเมินความเสี่ยงและเก็บข้อมูลการเข้าถึงสินเชื่อ พัฒนาระบบชำระอิเล็กทรอนิกส์ (E-Payment) เชื่อมโยงข้อมูลหลักประกันทางธุรกิจ4 ระหว่างหน่วยงานเจ้าของข้อมูลทรัพย์สินที่ใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจผ่านระบบหลักประกันทางอิเล็กทรอนิกส์ การรวบรวมข้อมูลเครดิตโดยดึงข้อมูลการชำระค่าสาธารณูปโภค

 

- ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) (เจ้าภาพหลัก)

- กรมพัฒนาธุรกิจการค้า

- หน่วยงานเจ้าของข้อมูล ทรัพย์สินที่จะใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจ

- บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด

6. ด้านการค้าระหว่างประเทศ (International Trade) เช่น พัฒนาระบบNational Single Window (NSW)5 และ National Digital Trade Platform (NDTP)6 ให้เป็นมาตรฐานสากล พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ท่าเรือ ชายแดน และท่าอากาศยาน ลดข้อจำกัดในการจ้างงานชาวต่างชาติ และการเข้าสู่ตลาด พัฒนากฎระเบียบที่เกี่ยวข้องให้มีมาตรฐาน มีความเป็นสากลและสามารถ คาดเดาได้ ทั้งด้านการค้าระหว่างประเทศและพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (Digital Trade)

 

- กรมศุลกากร (เจ้าภาพหลัก)

- กรมการค้าต่างประเทศ

- กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

- การท่าเรือแห่งประเทศไทย

- บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)

- กรมการจัดหางาน

- สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง

- หน่วยงานเจ้าของใบอนุญาตในการนำเข้าและส่งออก

7. ด้านการจัดเก็บภาษี (Taxation) เช่น ลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในการจัดการด้านภาษีขยายการใช้ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ มีการดำเนินการด้านภาษีสิ่งแวดล้อม ประสานงานร่วมกันกับสำนักงานประกันสังคมในการตรวจสอบบัญชีเงินเดือนของผู้ประกันตน

 

- กรมสรรพากร (เจ้าภาพหลัก)

- สำนักงานประกันสังคม

8. ด้านการระงับข้อพิพาท (Dispute Resolution) เช่น มีการกำหนดระยะเวลามาตรฐานในการจัดการคดีรวมถึงระยะเวลาที่ใช้ในการบังคับคดี มีกลไกการไกล่เกลี่ยอนุญาโตตุลาการ การระงับข้อพิพาททางเลือก7

 

- สำนักงานศาลยุติธรรม (ศย.) (เจ้าภาพหลัก)

9. ด้านการแข่งขันทางการตลาด (Market Competition) เช่น มีมาตรการสนับสนุนกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) เพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าถึงตลาดของภาครัฐ ลดการใช้วิธีเฉพาะเจาะจงในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ตรวจสอบและพัฒนากฎระเบียบเพื่อป้องกันการผูกขาดทางการค้า

 

- กรมบัญชีกลาง (เจ้าภาพหลัก)

- สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ

- สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (สำนักงาน กขค.)

10. ด้านการล้มละลายทางธุรกิจ (Business Insolvency) เช่น มีกระบวนการล้มละลายแบบพิเศษสำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ปรับปรุงกระบวนการล้มละลายและฟื้นฟูการให้มีประสิทธิภาพ จัดตั้งศาลชำนัญพิเศษด้านการล้มละลายหรือมีผู้พิพากษาเฉพาะด้านการล้มละลาย

 

- กรมบังคับคดี (เจ้าภาพหลัก)

- ศย.

 

          7. ก.พ.ร. ในคราวประชุมครั้งที่ 5/2566 เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 มีมติรับทราบรายงานความก้าวหน้าการดำเนินการตามแนวทางการประเมิน Business Ready (B-READY) ของธนาคารโลก และให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีรับทราบต่อไป

__________________________________________________

1 ธนาคารโลกได้ตรวจสอบเป็นการภายในแล้วพบว่า มีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลที่มีเจตนาไม่บริสุทธิ์โดยเจ้าหน้าที่ของธนาคารโลก โดยการเปลี่ยนแปลงข้อมูลดังกล่าว ทำให้ข้อมูลของจีนในรายงาน Doing Business 2018 และข้อมูลของซาอุดีอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ในรายงานตัว Doing Business 2020 ดีกว่าข้อมูลที่ควรจะเป็นและข้อมูลของอาเซอร์ไบจานในรายงาน Doing Business 2020 ด้อยกว่าที่ควรจะเป็น ต่อมาธนาคารโลกได้เผยแพร่รายงานผลการสืบสวนเรื่องดังกล่าวที่จัดทำโดยสำนักงานกฎหมายจากภายนอกพบว่า มีผู้บริหารระดับสูงของธนาคารโลกใช้อิทธิพลกดดันให้มีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลดังกล่าว

2ตามกฎกระทรวงการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า พ.ศ. 2563 “ผู้ได้รับผลประโยชน์ที่แท้จริง” หมายความว่าบุคคลธรรมดาผู้เป็นเจ้าของที่แท้จริงหรือมีอำนาจควบคุมความสัมพันธ์ทางธุรกิจของลูกค้ากับสถาบันการเงินหรือผู้ประกอบอาชีพตามมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 (บุคคลที่มีหน้าที่ต้องรายการการทำธุรกรรมต่อสำนักงาน ปปง. เช่น ผู้ประกอบอาชีพที่ปรึกษาการลงทุน ผู้ประกอบอาชีพค้าอัญมณี เพชรพลอย ทองคำ) หรือบุคคลที่ลูกค้าทำธุรกรรมแทน รวมถึงบุคคลผู้ใช้อำนาจควบคุมนิติบุคคลหรือบุคคลที่มีการตกลงกันทางกฎหมาย

 3การตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า (Customer Due Diligence: CDD) เป็นมาตรการคัดกรองลูกค้าของสถาบันการเงินและผู้ประกอบการอาชีพที่เกี่ยวข้องเพื่อป้องกันการฟอกเงินหรือการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอนุภาพทำลายล้างสูง โดยต้องมีกระบวนการในการระบุและพิสูจน์ทราบตัวตนของลูกค้า และประเมินและบริหารความเสี่ยงของลูกค้าทุกราย รวมทั้งตรวจสอบธุรกรรมที่ลูกค้าได้ทำขึ้นเพื่อบริหารและบรรเทาความเสี่ยงอย่างต่อเนื่องซึ่งที่ผ่านมาพบว่า ผลการประเมินการปฏิบัติตามมาตรฐานสากลด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายของประเทศไทยยังมีข้อบกพร่องในกรอบด้านกฎหมายหลายประการ รวมถึงหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการทดสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงของลูกค้า

4พระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. 2558 ตราขึ้นเพื่อรองรับการนำทรัพย์สินที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจมาใช้เป็นประกันการชำระหนี้ในลักษณะที่ไม่ต้องส่งมอบการครอบครองแก่เจ้าหนี้โดย “สัญญาหลักประกันทางธุรกิจ” คือสัญญาซึ่งคู่สัญญาฝ่ายหนึ่ง เรียกว่าผู้ให้หลักประกัน ตราทรัพย์สินไว้แก่คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง เรียกว่า ผู้รับประกัน เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้โดยไม่จำเป็นต้องมอบทรัพย์สินนั้นแก่ผู้รับหลักประกัน และ “หลักประกัน” ได้แก่ทรัพย์สิน ดังต่อไปนี้ (1) กิจการ (2) สิทธิเรียกร้อง (3) อสังหาริมทรัพย์ที่ผู้ให้หลักประกันใช้ในการประกอบธุรกิจ เช่น เครื่องจักร สินค้าคงคลัง หรือวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตสินค้า (4) อสังหาริมทรัพย์ในกรณีที่ผู้ให้หลักประกันประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์โดยตรง (5) ทรัพย์สินทางปัญญา และ (6) ทรัพย์สินอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

5ระบบ National Single Window (NSW) เป็นระบบการบริการเชื่อมโยงข้อมูลหน่วยงานภาครัฐและภาคธุรกิจสำหรับการนำเข้า ส่งออก และโลจิสติกส์ เน้นการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานของรัฐ (Government to Government: G2G ) และหน่วยงานของรัฐกับภาคเอกชน (Business to Government: B2G) โดยเชื่อมโยงข้อมูลแบบไร้เอกสารระหว่างกรมศุลกากรและผู้ประกอบการค้า ธนาคาร บริษัทเรือ สายการบิน หน่วยงานรัฐต่างๆ และรองรับการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนและประเทศในภูมิภาคอื่นๆ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีการบริการแบบเบ็ดเสร็จจากการติดต่อเพียงจุดเดียวไม่ต้องกรอกข้อมูลที่ซ้ำซ้อนกัน มีการใช้ข้อมูลร่วมกันกับทุกองค์กรที่เกี่ยวข้อง และการเชื่อมโยงข้อมูลใบอนุญาตและใบรับรองระหว่างหน่วยงานภาครัฐภายในประเทศและระหว่างประเทศมีกรมศุลกากรเป็นเจ้าภาพ

6แพลตฟอร์มการค้าระหว่างประเทศของไทย (National Digital Trade Platform: NDTP) เป็นแพลตฟอร์มกลางในการเชื่อมโยงและส่งผ่านข้อมูลไปยังระบบดิจิทัลของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น ภาคการประกันภัย ภาคการเงิน การธนาคาร ภาคผู้ประกอบการ และภาคการขนส่งและโลจิสติกส์ทั้งในและนอกประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพภายใต้มาตรฐานทางดิจิทัลเดียวกัน ที่มีความมั่นคงปลอดภัย รวมทั้งเชื่อมโยงข้อมูลระบบ National Single Windows (NSW) เน้นการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างภาคเอกชน (Business to Business: B2B) ซึ่งจะเป็นการปรับเปลี่ยนระบบและกระบวนการทำงานจากการค้าแบบดั้งเดิมให้เป็นแบบอิเล็กทรอนิกส์ ลดความซ้ำซ้อนในการกรอกข้อมูลในกระดาษ ลดเวลาและต้นทุนในการนำส่งเอกสารต้นฉบับแบบดั้งเดิม ยกระดับความโปร่งใสในกระบวนการของการค้าระหว่างประเทศโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลครบวงจร มีภาคเอกชนเป็นเจ้าภาพ ดำเนินการโดยบริษัท เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ็กซ์ จำกัด ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้พัฒนาและให้บริการโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินของไทยรวมทั้งระบบพร้อมเพย์ ขณะนี้การพัฒนาระบบยังอยู่ในระยะนำร่อง โดยที่ผ่านมามีการจัดทำระบบต้นแบบ (Prototype) เพื่อนำเสนอในช่วงการเป็นเจ้าภาพการจัดประชุมเอเปคของไทยในปี พ.ศ. 2565

7การระงับข้อพิพาททางเลือก (Alternative Dispute Resolution) คือการระงับข้อพิพาทโดยไม่ใช้วิธีฟ้องศาล เป็นทางเลือกเพื่อให้ข้อพิพาทยุติได้อย่างรวดเร็วและมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่ากระบวนการตัดสินของศาล มีวิธีที่สำคัญ เช่น (1) การเจรจา (Negotiation) โดยคู่กรณีเจรจากันเองโดยไม่มีบุคคลที่สาม (2) การไกล่เกลี่ย (Mediation) และการประนอมข้อพิพาท (Conciliation) โดยมีบุคคลที่สามซึ่งเป็นคนกลางเข้ามาช่วยเหลือเสนอแนะ หาทางออก โดยคู่กรณีเป็นผู้ตัดสินใจเอง (3) อนุญาโตตุลาการ (Arbitration) โดยคู่กรณีตกลงกันให้บุคคลที่สามที่มีความเป็นกลางและเป็นอิสระเป็นผู้ทำให้การวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทดังกล่าวและคู่กรณีจะต้องยอมรับคำวินิจฉัยชี้ขาดและผูกพันที่จะปฏิบัติตามคำชี้ขาดนั้นด้วย

 

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 9 กรกฎาคม 2567

 

 

7289

Click Donate Support Web 

SME720x100 2024

Banner GPF720x100 PX

CKPower 720x100

EXIM One 720x90 C JMTL 720x100

QIC 720x100

TOA 720x100

วิริยะ 720x100

AXA 720 x100

aia 720 x100

BKI 720 x 100

kbank 720x100 66

ธกส 720x100PTG 720x100

ใจฟู720x100px

AXA 720 x100 

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!