หมวดหมู่: กลต.

SEC Rapee


ก.ล.ต. เดินหน้าวางรากฐานตลาดทุนไทย ใช้เทคโนโลยีนำ สร้างความมั่งคั่งให้คนไทย

     ก.ล.ต. เผยผลงานรอบปีที่ผ่านมาบรรลุผลตามเป้าหมาย วางรากฐานตลาดทุนเพื่อเติบโตอย่างยั่งยืน ปรับวิธีกำกับดูแลให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก และยกระดับมาตรฐานเทียบเท่าสากล พร้อมเปิดเผยแผนยุทธศาสตร์เพื่อเดินหน้าด้วยการใช้เทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพบริการตลาดทุน ตอบโจทย์การเป็นแหล่งระดมทุนและลงทุน เพื่อความมั่นคงทางการเงินให้แก่คนไทยในระยะยาว

      นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า ปีที่ผ่านมา ก.ล.ต. ดำเนินการตามเป้าหมายที่วางไว้ ทั้งในด้านการเปิดให้คนไทยเข้าถึงบริการคำแนะนำการลงทุนที่มีคุณภาพอย่างครบวงจร โดยเปิดตัวโครงการ’5 ขั้นมั่นใจลงทุน’เพื่อตอบโจทย์ของการดูแลผู้ลงทุนโครงการ’บริษัทเกษียณสุข’ ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร ส่งเสริมลูกจ้างให้มีเงินใช้หลังเกษียณอย่างเพียงพอผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ การออกกฎหมายกำกับดูแลธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำของธุรกิจและคุ้มครองผู้ลงทุน พร้อมส่งเสริมการวางรากฐานเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนโดยสร้างกลไกเชื่อมโยงการกำกับดูแลกับธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เพื่อดูแลความมั่นคง และป้องกันความเสี่ยงของทั้งระบบ และจัดทำความร่วมมือกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อลดความซ้ำซ้อน อำนวยความสะดวกแก่ภาคเอกชน

       ก.ล.ต. ได้ยกระดับมาตรฐานกำกับดูแลในหลายด้าน อาทิ การออกและเสนอขายตราสารหนี้ การสื่อสารความคาดหวังกับผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์เพื่อสนับสนุนการให้บริการที่ได้มาตรฐานและคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของลูกค้า (putting investors first) ส่งผลให้กระบวนการขายผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนมีพัฒนาการในทางที่ดีขึ้น รวมทั้งริเริ่มให้ข้อมูลตลาดทุนอยู่ในรูปแบบ machine readable และ open API เพื่อให้มีผู้นำไปวิเคราะห์และสร้างมูลค่าเพิ่มให้บริการแก่ผู้ลงทุน ควบคู่กับการส่งเสริมรูปแบบการทำธุรกิจแบบ open architecture เพื่อคัดเลือกผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ตอบโจทย์สูงสุดสำหรับผู้ลงทุน

      นอกจากนี้ ยังมีการเตรียมความพร้อมเข้ารับการประเมินประสิทธิภาพการกำกับดูแลตลาดทุนเทียบกับมาตรฐานสากลในโครงการ Financial Sector Assessment Program (FSAP) ทำให้มีการปรับปรุงและยกระดับตามมาตรฐานสากลในทางปฏิบัติเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ คาดว่าจะมีการเผยแพร่ผลการประเมินอย่างเป็นทางการในกลางปี 2562 ซึ่งจะมีส่วนช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ลงทุนทั้งในและต่างประเทศ

        สำหรับ แผนยุทธศาสตร์ 3 ปีถัดจากนี้ ก.ล.ต. จะดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อให้คนไทยในวงกว้างเข้าถึงคำแนะนำการวางแผนทางการเงินที่มีคุณภาพเพื่อสร้างอิสรภาพทางการเงินในระยะยาว เพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการระดมทุนและสร้างโอกาสให้แก่ภาคธุรกิจ เพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขันและยกระดับโครงสร้างพื้นฐานตลาดทุนรองรับยุคดิจิทัลเต็มรูปแบบ

       นอกจากนี้ ในการกำกับดูแลรองรับโลกอนาคต ก.ล.ต. จะเป็นผู้กำกับดูแลที่ปรับตัวให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล และปรับปรุงประสิทธิภาพในการกำกับดูแล และจัดการกับความเสี่ยงที่อาจเกิดกับผู้ลงทุนและระบบการเงินได้อย่างทันท่วงที โดยให้ความสำคัญกับการวางรากฐานองค์กรที่เปลี่ยนวิธีคิด วิธีการทำงานของบุคลากร ก.ล.ต. และเน้นการวิเคราะห์และใช้เครื่องมือการกำกับดูแลที่หลากหลายที่ทำให้สามารถบรรลุเป้าหมายได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาการออกกฎเกณฑ์เพียงอย่างเดียว” นายรพี กล่าวสรุป  

       ทั้งนี้ แผนยุทธศาสตร์ 3 ปี (2562-2564) ของ ก.ล.ต. ซึ่งได้จัดทำขึ้นโดยการมีส่วนร่วมจากผู้มีส่วนได้เสียในตลาดทุน และสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ครอบคลุม 5 เรื่องสำคัญ ได้แก่

                (1)       สนับสนุนผู้ให้บริการด้านการให้คำแนะนำและวางแผนทางการเงินที่มีคุณภาพและประชาชนวงกว้างเข้าถึงได้ เพื่อให้ผู้ลงทุนมีโอกาสเข้าถึงบริการในการลงทุน ขณะที่ผู้ให้บริการแนะนำจะมีต้นทุนลดลง

                (2)       สร้างโอกาสในการระดมทุนอย่างมีคุณภาพ เพื่อให้ตลาดทุนเติบโตอย่างยั่งยืน สนับสนุนให้ตลาดทุนเป็นแหล่งระดมทุนของภาคธุรกิจที่มีธรรมาภิบาลที่ดี รวมถึงสนับสนุนกิจการและนวัตกรรมที่สร้างมูลค่าเพิ่ม

                แก่เศรษฐกิจและสังคม เพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ตลอดจนเป็นแหล่งระดมทุนสำหรับพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้าน

                (3)       สร้างประสิทธิภาพและศักยภาพการแข่งขันของตลาดทุนไทย โดยการยกระดับกระบวนการและสมรรถนะโครงสร้างพื้นฐานรองรับระบบดิจิทัล เพื่อนำไปสู่บริการที่ดีและสะดวกยิ่งขึ้น รวมทั้งเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของตลาดทุนและภาคเศรษฐกิจจริง (real sector)

                (4)       การกำกับดูแลที่เท่าทันกับโลกอนาคตและลดภาระให้กับภาคเอกชน โดยการขับเคลื่อนด้วยข้อมูล และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการกำกับดูแล สร้างกรอบเพื่อติดตามและจัดการความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับฟินเทค ดำเนินการปฏิรูปกฎเกณฑ์ให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบัน

                (5)       ยกระดับมาตรฐานการกำกับดูแลและการบริหารจัดการองค์กรโดยให้ความสำคัญกับเรื่องการเปลี่ยนแปลงวิธีคิด วิธีการทำงาน การใช้เครื่องมือการกำกับดูแลที่หลากหลายเพื่อให้สามารถสร้างความสมดุลระหว่างการส่งเสริมนวัตกรรมและการจัดการความเสี่ยงได้อย่างเหมาะสม รวมถึงการเตรียมความพร้อมและพัฒนาศักยภาพบุคลากรในด้านต่างๆ

 

SEC Conference 2019: Capital Market for All

หัวข้อ Paving Foundation for Being an Adaptive Regulator

ผู้บรรยาย คุณวรัชญา ศรีมาจันทร์ ผู้ช่วยเลขาธิการอาวุโส สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

        ก.ล.ต. มีเป้าหมายที่จะเป็นองค์กรกำกับที่มีการปรับตัว (Adaptive Regulator)ที่ตอบโจทย์ผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่าย (stakeholders)โดยการแก้ปัญหาได้ตรงจุดและทันต่อการเปลี่ยนแปลง ไม่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาตลาดทุน รวมทั้งนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ

      การออกกฎเกณ์ไม่ได้มุ่งหมายเพื่อการกำกับดูแลเท่านั้น แต่เพื่อขจัดปัญหาต่าง ๆ ในตลาดทุนให้ stakeholders มีความเชื่อมั่นในการทำธุรกรรมโดยพึ่งพากฎเกณฑ์ให้น้อยที่สุด ด้วยการใช้กลไกอื่นที่หลากหลายประกอบกัน เช่น การสร้างความเข้าใจกับภาคธุรกิจเพื่อให้เห็นประโยชน์และเกิดความสมัครใจในการบริหารจัดการธุรกิจตามหลักธรรมาภิบาลที่ดี การสร้างสภาพแวดล้อมให้เกิดการแข่งขัน และการเปิดช่องด้านกฎเกณฑ์ให้นำเทคโนโลยีมาให้บริการด้านการให้นำแนะนำการลงทุน (advisory) เพื่อให้ตอบโจทย์ผู้ลงทุนที่ไม่มีความชำนาญในการตัดสินใจลงทุนด้วยตนเอง และต้องการตัวช่วยในการตัดสินใจ เป็นต้น

 

 

แนวคิดในการพัฒนามี 3 ส่วน ได้แก่

        1. นำการประเมินผลกระทบด้านการออกกฎเกณฑ์ (Regulatory Impact Assessment)หรือ RIA มาใช้ในการออกกฎเกณฑ์หรือมาตรการใหม่ โดยมีกระบวนการวิเคราะห์ความต้องการและรับฟังความคิดเห็น ซึ่งปัจจุบันได้เริ่มดำเนินการแล้ว นอกจากนี้ จะเน้นการวิเคราะห์ปัญหาให้ชัดเจนและใช้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจแบบหลักฐานเชิงประจักษ์ (evidence-based) มากขึ้น รวมถึงวิเคราะห์ต้นทุนและผลประโยชน์ (cost-benefit) ของ stakeholders รวมทั้งอาจใช้เครื่องมือที่เป็นหลักเกณฑ์ที่ไม่มีผลบังคับใช้ทางกฎหมาย (soft regulations) เช่น แนวทางการปฏิบัติหรือ มาตรฐานอุตสาหกรรมซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนได้เร็วและเข้ากับสถานการณ์มากยิ่งขึ้น

        2. ปรับปรุงกระบวนการในการกำกับดูแลให้อยู่ในระบบ เพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับผู้ใช้ ลดขั้นตอนและระยะเวลา ขณะที่เพิ่มประสิทธิภาพ รวมทั้งเตรียมความพร้อมข้อมูลเพื่อเป็นองค์ที่มีการจัดการและใช้ข้อมูลในทุกระดับ (data driven) และเพิ่มความสะดวกในการให้นำข้อมูลไปใช้วิเคราะห์ต่อยอดให้เกิดประโยชน์ต่อตลาดทุน

        3. ทบทวนความจำเป็นของกฎเกณฑ์เดิมและพิสูจน์ว่ามีความจำเป็นที่ต้องใช้ในปัจจุบัน เพื่อให้กฎเกณฑ์ไม่เป็นอุปสรรค เท่าทันพัฒนาการตลาดทุน และสอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป

 

SEC Conference 2019: Capital Market for All

หัวข้อ Driving Partnership for Sustainable Growth

ผู้ร่วมเสวนา:

1.             นางสิริวิภา สุพรรณธเนศ                     รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

2.             นายกุลเวช เจนวัฒนวิทย์                     กรรมการผู้อำนวยการ สมาคมส่งเสริมการสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD)

        ปัจจุบันเราต้องเผชิญกับภัยพิบัติในรูปแบบต่างๆ มากขึ้น ทั้งอุณหภูมิที่ร้อนขึ้น ฝนไม่ตกตามฤดูกาล และน้ำท่วม ตลอดจนสภาวะฝุ่นละออง PM 2.5 ซึ่งกระทบต่อการใช้ชีวิตของเราทุกคนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น หากเราอยากรักษาโลกของเราไว้ โดยที่ธุรกิจของเรายังสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน สังคมและลูกหลานของเราอยู่ได้อย่างมีความสุข

ธรรมาภิบาลองค์กรที่ดี (Corporate Governance) จะเป็นหัวใจของคำตอบในเรื่องดังกล่าว อย่างไรก็ดี แม้บริษัทจดทะเบียนไทยจะมีพัฒนาการที่ดีด้านความยั่งยืน ดังจะเห็นได้จากการได้รับคัดเลือกให้เป็นสมาชิกของ DJSI ในจำนวนที่มากขึ้น แต่กลับมีอันดับท้าย ๆ ในเวทีโลก อาทิ Country Sustainability ROBECCOSAM ปี 2018 และ Corruption Perception Index ปี 2018 ทั้งนี้ เป็นเพราะการทำธุรกิจที่ไม่ได้คำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปด้วย ดังนั้น ในการเสริมสร้างให้เกิดธรรมาภิบาลองค์กรที่ดีอย่างยั่งยืนนั้น ต้องเกิดจากการเห็นคุณค่าและร่วมมือสนับสนุนของทุกคนในองค์กร

     การขับเคลื่อนที่เกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรมนั้นจำเป็นต้องอาศัยเครื่องมือ 3 ด้านผสมผสานกัน ได้แก่ การตระหนักด้วยตนเองในการปฏิบัติที่ดี (Self-Discipline)แรงผลักดันของสังคม (Market Force)และ การกำกับดูแล (Regulations) กล่าวคือ ในส่วนของ Self- Discipline คณะกรรมการบริษัทจะเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการผลักดันกลไกดังกล่าว และเพื่อให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่ง ก.ล.ต. ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) จะเป็นตัว ‘ช่วย’ ในการผลักดันให้กรรมการบริษัทได้สร้างความยั่งยืนให้สังคม และอาศัยการมีส่วนร่วมของผู้ลงทุนช่วยผลักดัน เรียกร้องให้มีการลงทุนในบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่ให้ความสำคัญการเติบโตอย่างยืน ขณะเดียวกัน ก.ล.ต. ได้มีแผนการปรับปรุงกฎเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูลให้เหลือเพียงเล่มเดียว โดยให้ผนวกในเรื่องการเติบโตอย่างยืนเข้าไป เพื่อเป็นประโยชน์แก่ผู้ลงทุนในการเอาไปใช้ในการตัดสินใจลงทุน โดยที่ยังคงตอบโจทย์ผู้ประเมินต่างๆ และเพื่อรองรับข้อมูลที่ประมวลผลด้วยคอมพิวเตอร์โดยอัตโนมัติ (machine readable) ด้วย นอกจากนี้ เพื่อลดความยุ่งยากของภาคเอกชน ก.ล.ต. ตลท. และ IOD ได้ร่วมกันจัดทำระบบการให้บริการข้อมูลครบวงจร (One-Stop Service) เพื่อให้ บจ. สามารถติดต่อหน่วยงานที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนเพียงแห่งเดียวในการสอบถามข้อมูล เช่น กฎเกณฑ์ต่าง ๆ    

     สรุปคือ การเปลี่ยนแปลงอยู่ที่เราทุกคน และต้องลงมือทำทันที โดยบอร์ดต้องเป็นผู้นำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ขณะที่ ก.ล.ต. ตลท. และ IOD ร่วมกันปรับกระบวนการทำงานเพื่อสนับสนุนการเติบโตอย่างยั่งยืนของเอกชน

Click Donate Support Web

ais 790x90

GC 950x120

sme 720x90SIAM790x90

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!